1. Skip to Menu
  2. Skip to Content
  3. Skip to Footer>

ระบบเบิกจ่ายตรงของพนักงานท้องถิ่น มีผลใช้ได้แล้ว

ระบบเบิกจ่ายตรงของพนักงานท้องถิ่น
         ล่าสุด คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2556 มีมติเห็นชอบในหลักการของร่างพระราชกฤษฎีกากองทุนค่ารักษาพยาบาลข้าราชการท้องถิ่น กำหนดให้พนักงานและลูกจ้างของ อปท.ใช้สิทธิจ่ายตรงในการรับบริการสาธารณสุข ตามมาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ตุลาคม หลังจากนี้กระบวนการจะมีการเสนอร่าง พ.ร.ฏ.ที่ครม.ให้ความเห็นชอบ ให้คณะกรรมการกฤษฎีกาให้ความเห็น จากนั้นส่งกลับมายัง ครม.เพื่อให้ความเห็นชอบอีกครั้ง และนำร่าง พ.ร.ฏ.ขึ้นทูลเกล้าฯเพื่อทรงพิจารณาโปรดเกล้า ก่อนประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ตุลาคม 2556 เป็นต้นไป
          นายแพทย์วินัย กล่าวว่า ในส่วนการเตรียมงานของสปสช.นั้น ขณะนี้มีความพร้อมในทุกด้านแล้ว ทั้งการจัดทำฐานข้อมูลทะเบียนของผู้ที่ได้รับสิทธิ์ และผู้ใช้สิทธิ์ร่วมของข้าราชการส่วนท้องถิ่นให้ถูกต้อง ครบถ้วน โดยการพัฒนาโปรแกรมขึ้นมาและให้ อปท.แต่ละแห่งคีย์ข้อมูลลงไปในโปรแกรม ปัจจุบันมียอดของผู้ใช้สิทธิ์มากกว่า 660,000 ราย จากองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) 76 แห่ง เทศบาล 1,900 แห่ง และองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) 5,693 แห่ง เหลืออปท.ประมาณ 98 แห่งที่ยังให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน สามารถลงทะเบียนได้ที่นายทะเบียนประจำอปท.ที่สังกัดอยู่ ใช้ทะเบียนบ้าน ทะเบียนสมรส และใบรับรองบุตร โดยสิทธิจะเกิดภายใน 1 วันหลังการบันทึกข้อมูล
“ในการใช้บริการนั้น สำหรับผู้ที่ลงทะเบียนแล้ว ไม่ต้องสำรองจ่าย เพียงแสดงบัตรประชาชนหรือบัตรอื่นที่ทางราชการออกให้มีเลข 13 หลัก กรณีเด็กอายุต่ำกว่า 7 ปี ใช้สูติบัตร สำหรับท่านใดที่ยังไม่ได้ลงทะเบียน หากไปใช้บริการต้องสำรองจ่ายแล้วนำใบเสร็จไปเบิกจ่ายกับต้นสังกัด แล้วจะได้รับเงินคืนหลังจากตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารแล้ว ดังนั้นจึงขอให้ผู้มีสิทธิ์ทุกท่านไปลงทะเบียนโดยเร็วที่สุดจะสามารถใช้บริการได้สะดวกกว่า” 
         ทั้งนี้ สปสช.ได้ชี้แจงทำความเข้าใจกับโรงพยาบาลทั่วประเทศว่าเมื่อข้าราชการท้องถิ่นไปใช้บริการที่โรงพยาบาล การให้บริการ การตรวจสอบสิทธิ์ การเก็บเงินจาก สปสช. จะเป็นอย่างไร ในส่วนของการเก็บเงินจากสปสช. นั้น ทาง สปสช. ได้พัฒนาการเบิกจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งทำเสร็จเรียบร้อยแล้ว  รวมทั้งการเตรียมเรื่องการคุ้มครองสิทธิ์ของผู้มีสิทธิ์ เจ้าหน้าที่ข้าราชการท้องถิ่น หากมีปัญหาหรือต้องการสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถโทร.สอบถามได้ที่ สายด่วนสปสช. 1330
         กองทุนค่ารักษาสำหรับข้าราชการและพนักงานส่วนท้องถิ่นนี้ ถือเป็นเรื่องสำคัญของอปท.ด้านสวัสดิการรักษาพยาบาลที่ข้าราชการส่วนท้องถิ่นเรียกร้องมานาน ซึ่งต้องการให้สิทธิการรักษาพยาบาลเทียบเท่ากับข้าราชการพลเรือน และใช้หลักการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข โดยจัดตั้งเป็นกองทุนให้มีการบริหารจัดการร่วม ไม่ใช่ให้แต่ละท้องถิ่นไปจัดการและแบกรับความเสี่ยงเองอย่างที่ผ่านมา ซึ่งต้องขอบคุณทางรัฐบาลที่เห็นปัญหาและดำเนินการแก้ไขให้ ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาแบบบูรณาการ ไม่ได้ใช้งบประมาณเพิ่ม ใช้งบประมาณจากที่มีอยู่แต่ใช้หลักการบริหารจัดการแบบเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข   โดยมีสปสช.เป็นผู้บริหารจัดการกองทุนนี้ให้ และในส่วนของการเตรียมความพร้อมนั้น ทางอปท.ทุกแห่งได้จัดการลงทะเบียนให้ผู้มีสิทธิทุกคนเรียบร้อยแล้ว
         สำหรับในส่วนของกองทุนค่ารักษาอปท.นั้น ทางอปท.มีความคาดหวังว่า ข้าราชการและพนักงานส่วนท้องถิ่นที่ต้องได้รับการเบิกจ่ายตรงกับโรงพยาบาลของรัฐทุกแห่งทั่วประเทศ ไม่ต้องสำรองจ่าย และจะต้องได้รับการดูแลในเรื่องสุขภาพให้มีมาตรฐานเที่ยบเท่าข้าราชการพลเรือน ซึ่งจุดนี้กองทุนค่ารักษาอปท.ตอบโจทย์ให้แล้ว แต่ยังมีที่อปท.ต้องการคือ ในการบริหารงานกองทุนค่ารักษาอปท.นี้ จะต้องเปิดโอกาสให้อปท.เข้ามามีส่วนร่วมในการกำกับดูแล และในอนาคตอยากให้กองทุนค่ารักษาอปท.นี้ดูแลบุคลากรที่ทำงานในส่วนท้องถิ่นด้วย เช่น บุคลากรฝ่ายการเมือง สมาชิกอปท. รองนายกอปท. และลูกจ้างประจำที่เกษียณอายุไปแล้ว โดยเป็นสิทธิเฉพาะตัว ไม่รวมผู้มีสิทธิร่วมอื่นๆ คือ บุตร ภรรยา พ่อและแม่ มารวมด้วย เพราะนี่เป็นกลุ่มบุคลากรที่ทำงานให้ท้องถิ่นและเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐเช่นเดียวกัน จึงอยากให้รัฐบาลดูแลตรงจุดนี้ด้วย

  กองคลัง



Secured by Siteground Web Hosting