1. Skip to Menu
  2. Skip to Content
  3. Skip to Footer>

โครงการวิจัยการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนบนฐานวัฒนธรรม : ตลาดน้ำโจ้กสุขใจ

โครงการวิจัยเรื่อง “การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนบนฐานวัฒนธรรม
กรณีศึกษา ชุมชนในเขตเทศบาลเมืองวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี”
ภายใต้ชุดโครงการ การพัฒนาเมืองเพื่อรองรับสังคมสูงวัย   อำเภอวารินชำราบ  จังหวัดอุบลราชธานี
ศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นชุดนักวิชาการ  จังหวัดอุบลราชธานี



   งานวิจัยครั้งนี้ต้องการศึกษาถึงรูปแบบการใช้ประโยชน์ของพื้นที่สาธารณะเพื่อให้ประชาชนทุกวัยได้เข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดกฎ กติกา แนวทางของการใช้ประโยชน์เพื่อนำคุณค่าในเชิงวัฒนธรรม ภูมิปัญญาของแต่ละชุมชนมาสร้างให้เกิดมูลค่าในทางเศรษฐกิจ โดยคำนึงถึงอัตลักษณ์ของชุมชน จุดเด่นของวัฒนธรรมในแต่ละชุมชนและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การศึกษาวิจัยใช้กระบวนการวิจัยชุมชนเพื่อให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมกันเพื่อพัฒนาพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สำหรับคนทุกกลุ่มวัยและเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจของชุมชนอย่างเป็นองค์รวมเพื่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีเตรียมความพร้อมเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย โดยมีวัตถุประสงค์ของการวิจัยคือ (1) เพื่อศึกษาถึงสถานภาพและศักยภาพของชุมชนในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจชุมชนบนฐานวัฒนธรรม  (2)  เพื่อศึกษาสถานการณ์ สถานภาพของการใช้ประโยชน์พื้นที่สวนสาธารณะน้ำโจ้ก และ (3)  เพื่อค้นหารูปแบบการใช้ประโยชน์พื้นที่สวนสาธารณะน้ำโจ้กเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนบนฐานวัฒนธรรมในการรองรับสังคมสูงวัย

   คณะวิจัยหลักประกอบด้วย ดร.กาญจนา คุ้มทรัพย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์นภาพร หงษ์ภักดี อาจารย์ประจำคณะบริหารศาสตร์ และ ดร.คำล่า มุสิกา อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และมีนักวิจัยชุมชนและทีมเจ้าหน้าที่จากเทศบาลเมืองวารินชำราบ  ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของคณะวิจัย ระยะเวลาทำการวิจัย 1 ปี 3 เดือน เริ่มทำ การวิจัยเมื่อ (เดือน, ปี) 1 เมษายน 2563 – 1 กรกฎาคม 2564   ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

  กระบวนการวิจัยได้ดำเนินการมาระยะหนึ่งจนถึงปัจจุบัน คณะนักวิจัยได้พาทีมชุมชนศึกษาดูงานพื้นที่ตลาดสีเขียว จังหวัดมหาสารคาม และนำมาพัฒนาเพื่อวางแผนเตรียมการทดลองเปิดตลาด “น้ำโจ้กสุขใจ” ที่สะท้อนวิถีชีวิต วัฒนธรรมและแสดงให้เห็นถึงอัตลักษณ์ของเมืองวารินชำราบ มีการคัดเลือกตัวแทนของทั้ง 28 ชุมชนในเขตเทศบาลเมืองวารินชำราบมาเป็นคณะกรรมการตลาดเพื่อร่วมกันกำหนดกฎกติกาในการบริหารจัดการตลาด มีการเปิดรับสมัครและคัดเลือกร้านค้าที่จะมาร่วมจำหน่ายสินค้าของชุมชน ประมาณกว่า 50 ร้านค้า โดยกำหนดร่วมกันว่าจะทดลองเปิดตลาดทั้งในช่วงวันธรรมดาและวันหยุด คือทุกวันพุธและวันอาทิตย์ กำหนดว่าจะทดลองเปิดตลาดครั้งที่ 1 ในวันอาทิตย์ที่ 14 กุมภาพันธ์ 2564 และทดลองเปิดตลาดครั้งที่ 2 ในวันพุธที่ 17 กุมภาพันธ์ 2564  โดยในระหว่างนี้คณะนักวิจัยจะนำผลที่ได้จากการทดลองเปิดตลาดมาวิเคราะห์เพื่อแก้ไขปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้นและหวังว่าเมื่องานวิจัยปิดเล่มลง ชุมชนสามารถที่จะร่วมกันบริหารจัดการตลาดให้สามารถเป็นแหล่งสร้างรายได้และก่อให้เกิดการหมุนเวียนระบบเศรษฐกิจของชุมชนได้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้คณะนักวิจัยก็ยังคอยอยู่เป็นที่ปรึกษาให้กับชุมชน ถึงแม้ว่างานวิจัยจะสิ้นสุดลงแล้วก็ตาม

  กิจกรรมภายในเทศบาล



Secured by Siteground Web Hosting